K & S Associates

川島 & スワンモントリー アソシエイツ

วิเคราะห์สถานการณ์เครษฐกิจ สังคม และการเมืองเอเชียเป็นภาษาไทยด้วยมุมมองจากญี่ปุ่น สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

ไทยเสี่ยงต่อ”โรคประชานิยม” ศัตรูทางการคลังที่น่ากลัวกว่าสงคราม

กล่าวกันว่าในศตวรรษที่19 ตระกูล Rothchild นำโดยนาย Nathan Mayer Rothchild มองออกก่อนใครว่าอังกฤษจะได้รับชัยชนะในสงครามวอเตอร์ลู (The Battle of Waterloo) จึงนำเงินที่มีทุ่มซื้อพันธบัตรและได้กำไรมหาศาลจนประมาณไม่ได้หลังอังกฤษรบชนะ เรื่องราวนี้ทำให้รู้ว่าพันธบัตรรัฐบาลกับสงครามนั้นเป็นของคู่กัน สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพอยู่นั้นยังคงออกพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพื่อการสงคราม แต่เพื่อกู้ไปใช้กับสวัสดิการสังคม

              รัฐบาลญี่ปุ่นมีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมด 47 ล้านล้านเยน แต่มีรายจ่ายถึง 92 ล้านล้านเยน ส่วนต่าง 45 ล้านล้านเยนมาจากพันธบัตรรัฐบาลทั้งนั้น รายจ่ายรัฐฯหมดไปกับเงินอุดหนุนหลังเกษียณอายุและสาธารณสุขถึง 29 ล้านล้านเยน หมดไปกับดอกเบี้ยและเงินต้นของพันธบัตร 22 ล้านเยน ปันส่วนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 16 ล้านล้านเยน เหลือที่สำหรับการดำเนินนโยบายต่างๆไม่ถึง 25 ล้านเยน การจะกู้เสถียรภาพทางการคลังกลับมาได้ต้องจัดการกับค่าใช้จ่ายสาธารณสุขและการเลี้ยงชีพหลังเกษียณเท่านั้น แต่ทว่าไม่มีสื่อหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ใดกล้าแสดงความคิดเรื่องนี้ตรงๆเพราะเหตุว่าลูกค้ากลุ่มสำคัญของตนคือคุณลุงคุณป้าที่อยู่บ้านนั่นเอง การส่งเสริมให้ตัดสวัสดิการก็เท่ากับทิ้งลูกค้าหลักของตน ไม่ต่างกับพรรค LDP (Liberal Democratic Party) ที่ต้องคอยเอาใจผู้อาวุโสตามชนบทผู้เป็นเจ้าของคะแนนเสียงเช่นกัน ผู้เขียนคิดว่าการตัดงบด้านสวัสดิการคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคคู่แข่งอย่าง Democrat กลับขุดหลุมฝังตัวเองด้วยการเสนอเพิ่มงบสวัสดิการตอนหาเสียง

เมื่อญี่ปุ่นหันไปมองดูพฤติกรรมการใช้จ่ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วอาจต้องคารวะเรียกพี่กับการโปรยหว่านเงินในคลังออกมาผ่านนโยบายประชานิยม ซึ่งมองผิวเผินอาจดูดีที่ประชาชนผู้ได้รับของขวัญดูมีความสุขความพอใจ และรัฐบาลเหมือนเป็นนักบุญใจงาม แต่หารู้ไม่ว่ามีหนี้สาธารณะรออยู่ที่ปลายทางเพิ่มขึ้นๆ ไม่ใช่แค่เพียงสมัยเดียว หากรัฐบาลนี้และรัฐบาลต่อๆไปยังคงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ ประชาชนจะติดนิสัยการเก็บมือเก็บเท้ารอให้รัฐช่วยเหลือและเรียกร้องอย่างเดียว เมื่อเวลาผ่านไป 10ปี หรือ 20 ปี ประเทศไทยย่อมต้องขมขื่นกับเงินคลังตัวเลขติดลบยิ่งกว่าที่ญี่ปุ่นเผชิญขณะนี้ หรืออย่างเลวร้ายที่สุด การคลังอาจถึงขึ้นล้มละลายเป็นได้

              แม่ว่ายุโรปในศตวรรษที่ 19 ก็ดี เหล่าประเทศคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่แล้วก็ดี ได้เคยถึงสภาวะล้มเหลวด้านการคลังเพราะสงครามมาแล้วก็ตาม ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายในปัจจุบันก็กำลังเผชิญศัตรูที่ร้ายกาจกว่าการทำศึก ซึ่งก็คือ โรคประชานิยมและสวัสดิการนั่นเอง