K & S Associates

川島 & スワンモントリー アソシエイツ

วิเคราะห์สถานการณ์เครษฐกิจ สังคม และการเมืองเอเชียเป็นภาษาไทยด้วยมุมมองจากญี่ปุ่น สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

นโยบายจำนำสินค้าเกษตรมีข้อเสียที่แกะออกยาก

    ประเทศไทยกำลังจะเป็นยุคสังคมสูงวัย ผลผลิตทางการเกษตรจึงมากเกินความต้องการในประเทศต่อให้มีเป้าหมายส่งออกเป็นหลักก็ตาม ดังนั้นสินค้าเกษตรในประเทศไม่มีทางที่จะขายได้ราคาดีขึ้นแน่ การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยนโยบายประกันราคาหรือการจำนำจึงไม่มีประโยชน์อะไรต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรเลย แต่ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายเหล่านี้กันแน่

    ความจริงแล้วประเทศญี่ปุ่นเองก็เคยมีนโยบายจำนำข้าวมาแล้วในอดีตโดยมีเหตุผลว่าจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม แต่แล้วผลที่ได้จากการใช้เงินคลังกับนโยบายเหล่านี้คือการที่ภาคเกษตรไม่พัฒนาขึ้นเลยเพราะเกษตรกรพอใจกับรายได้ของตนจากราคาสินค้าเกษตรที่รัฐบาลกำหนด จึงไม่คิดที่จะแข่งขันเติบโตเหมือนอย่างอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังได้มีการรวมกลุ่มสหภาพเกษตรกรขึ้นโดยเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมือง พยายามควบคุมรัฐบาลไม่ให้ตัดงบประมาณอุดหนุนภาคเกษตร สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อภาคเกษตรไม่เติบโตขึ้นขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำระหว่าง 2 ภาคนี้ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลต้องรับภาระมากขึ้นทุกที ขณะที่เกษตรกรได้แต่หวังพึ่งการอุดหนุนจากรัฐบาล ในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้รับบทเรียนว่าการประกันราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใด

              ประเทศไทยเองก็เริ่มเดินไปในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น เกษตรกรไทยส่วนมากมีฐานะการเงินต่างจากคนในภาคอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากมีจำนวนคนมากกว่า จึงใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อหวังจะแลกกับการยกระดับฐานะตน ส่วนรัฐบาลก็เอาใจฐานเสียงของตนด้วยนโยบายระยะสั้นเช่นนี้ แต่หากยังทำเช่นนี้ต่อไปเกษตรกรไทยก็จะเคยชินกับการรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและเข้าใจว่าสิทธิทางการเมืองเป็นทางออกเดียว ดังนั้นการช่วยเหลือประชาชนภาคเกษตรที่ดีควรจะเป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงอย่างการให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกันหรือการเปิดโอกาสให้แข่งขันกับคนเมืองอย่างยุติธรรมจะดีกว่า ควรจะเลิกล้มนโยบายมองการณ์ใกล้อย่างจำนำสินค้าเกษตรตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่จะสายเกินไป