K & S Associates

川島 & スワンモントリー アソシエイツ

วิเคราะห์สถานการณ์เครษฐกิจ สังคม และการเมืองเอเชียเป็นภาษาไทยด้วยมุมมองจากญี่ปุ่น สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

สถานศึกษา เครื่องแบบ ความฉลาด

   มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นสมัยก่อนก็เคยมีเครื่องแบบนักศึกษา ในช่วงเกิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆนั้นเป็นช่วงแฟชั่นตะวันตกกำลังฮิต เครื่องแบบนักศึกษาก็มีคอปกแบบตะวันตกไม่ใช่กิโมโน นักศึกษาชายสมัยนั้นก็สวนกระแสด้วยการแต่งเครื่องแบบโทรมๆพร้อมหมวกเก่าๆ เพื่อดึงดูดนักศึกษาสาวว่าตนเองเท่ห์ได้โดยไม่พึ่งแฟชั่น แต่ทว่าเครื่องแบบนักศึกษาในญี่ปุ่นกลับจางหายไปช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง ปัจจุบันเหลือเพียงวิทยาลัยป้องกันประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะเหตุใดจึงหายไป เครื่องแบบมีความหมายซ่อนอยู่

              ญี่ปุ่นเพิ่มจะมาเน้นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็เมื่อตอนแพ้สงคราม ช่วงระหว่างนั้นมีมหาวิทยาลัยอยู่เพียงไม่กี่แห่ง วัยรุ่นส่วนน้อยและมีแต่ระดับหัวกะทิเท่านั้นที่สามารถเข้าไปเรียนได้ การใส่ชุดนักศึกษาเดินตามถนนก็ไม่ต่างกับการประกาศศักดาว่าตนเป็นคนฉลาดมีความรู้ ต่อมาภายหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างราบรื่น รัฐบาลมีกำลังทรัพย์พอที่จะสร้างมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ผู้คนต่างมีอันจะกินและส่งเสียลูกตนจนได้ใส่ชุดนักศึกษา ทำให้ชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องธรรมดา เครื่องแบบนักศึกษาจึงไร้ความหมายไปโดยปริยาย

    เมื่อผู้เขียนเห็นข่าวที่นักเรียนนักศึกษาไทยในบางโรงเรียนบางมหาวิทยาลัยรวมกลุ่มกันต่อต้านระบบการใส่เครื่องแบบนั้น ทำให้ผู้เขียนได้วิเคราะห์ในมุมมองเฉพาะตัวว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวโยงอย่างมากกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย วัยรุ่นไทยสมัยนี้เติบโตมาในวัฎจักรการศึกษาภาคบังคับ มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั่วประเทศ การแต่งเครื่องแบบไปเรียนเป็นหน้าที่ แม้แต่ชุดนักศึกษาก็ไม่ได้แสดงภาพพจน์ว่าฉลาดแต่อย่างใด แทนที่จะภูมิใจครอบครัวตนกลับมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิทั้งๆที่พ่อแม่ตนบางคนไม่มีสิทธิ์ได้ใส่แท้ๆ นี่เป็นเพราะประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมาเกินครึ่งทางแล้ว อัตราการเรียนจบประถมกับจบมหาวิทยาลัยใกล้เคียงขึ้นมาก ความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องแบบน้อยลง และเชื่อว่ามีโอกาสหายไปในอนาคตข้างหน้า เหมือนกับญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษเป็นต้น