K & S Associates

川島 & スワンモントリー アソシエイツ

วิเคราะห์สถานการณ์เครษฐกิจ สังคม และการเมืองเอเชียเป็นภาษาไทยด้วยมุมมองจากญี่ปุ่น สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งเรื่องการทูต

   ญี่ปุ่นเริ่มบทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการประกาศว่า “ปลดปล่อยชาวตะวันออก (จากฝรั่ง)” ซึ่งฟังดูเป็นฮีโร่พิชิตความถูกต้อง แต่จะมีสักกี่คนที่เชื่อคำพูดสวยหรูนั้น ความจริงแล้วญี่ปุ่นมีความคิดจะเป็นใหญ่ในเอเชียแทนพวกตะวันตกต่างหาก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ปักใจเชื่อทันที และไม่มั่นใจว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ถ้าเกิดยอมเป็นพวกญี่ปุ่นง่ายๆจะลำบากหากแพ้สงคราม จึงได้พยายามสวมบทบาทเป็นบุคคลที่ 3 คอยสังเกตการณ์ความเป็นไปของอเมริกาและญี่ปุ่น

              ภายในพริบตาเดียวญี่ปุ่นก็ได้นำทัพมาถึงคาบสมุทรอินโดจีนด้วยอาวุธที่เพียบพร้อม ไทยจึงต้องจำยอมเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นเพื่อที่จะรักษาเอกราชของตนเอาไว้ เหตุผลที่ไทยเข้าร่วมไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ไทยได้เห็นว่าญี่ปุ่นสามารถทำลายเรือรบ Prince of Wales และ Repulse ของอังกฤษได้ถึง 2 ลำในปี 1941 และนำกองทัพบกบุกไปถึงคาบสมุทรมาเลย์ได้ทั้งๆที่เป็นถิ่นอังกฤษ แสดงถึงความแข็งแกร่งของญี่ปุ่น ประเทศไทยเองก็อาจอาศัยกำลังของญี่ปุ่นกอบกู้ดินแดนที่เสียไปคืนมาได้ จึงตัดสินใจร่วมรบพร้อมญี่ปุ่นที่พม่า ในขณะเดียวกันก็ได้ติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษว่า จำใจร่วมรบกับญี่ปุ่นเพราะจำใจด้วยเหตุนานาประการ

              พอญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลงในปี 1943 ประเทศไทยก็เริ่มตีตนออกห่างจากญี่ปุ่นทันที นายโทโจ ฮิเดกิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นเริ่มรู้สึกถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของไทย จึงอุตส่าห์เดินทางมาไทยเพื่อเสนอแบ่งพื้นที่ที่ยึดมาจากพม่าได้ส่วนหนึ่งให้ แต่ไทยเกรงว่าถ้าตกลงรับพื้นที่นั้นมาแล้วอังกฤษจะไม่พอใจอย่างมาก และจะกลายเป็นผลเสียภายหลัง จึงได้ปฎิเสธไป และการประชุมสงครามที่กรุงโตเกียวในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง จอมพลแปลก พิบูลสงครามไม่ยอมไปด้วยตนเอง แต่ส่งพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรฯ ไปแทนโดยไม่ยอมลงนามสัญญาพันธมิตร แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อญี่ปุ่นที่น้อยลงอย่างชัดเจน

              เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงประเทศไทยได้แสดงความเก่งกาจในการฑูตให้โลกได้ประจักษ์ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายญี่ปุ่น โดยแสดงหลักฐานให้เห็นว่าผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่8 คนหนึ่งคือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคัดค้านการร่วมรบกับญี่ปุ่นเด็ดขาด และยังจัดตั้งขบวนการเสรีไทยพร้อมทั้งสานสัมพันธ์กับอเมริกา และให้ร่วมมือกับอเมริกาในการยับยั้งระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย เรื่องนี้จอมพล ป.ก็ได้ให้ความร่วมมือด้วย ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความเป็น “ผู้แพ้สงคราม” ในที่สุด

              แม้ว่าในเรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆประเทศไทยได้พึ่งพาอาศัยญี่ปุ่นก็ตาม แต่ในด้านการฑูตนั้นญี่ปุ่นยกให้ประเทศเป็นหนึ่ง แทนที่ญี่ปุ่นจะรับแต่ชาวไทยเข้ามาเรียนฝ่ายเดียว คนญี่ปุ่นต่างหากที่สมควรจะถูกส่งไปเรียนที่ประเทศไทยมากกว่า