K & S Associates

川島 & スワンモントリー アソシエイツ

วิเคราะห์สถานการณ์เครษฐกิจ สังคม และการเมืองเอเชียเป็นภาษาไทยด้วยมุมมองจากญี่ปุ่น สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ

จีนมีอิทธิพลต่อการเกษตรในพม่า

                   เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศพม่าเพื่อทัศนศึกษาด้านเกษตรตามเส้นทางสงครามจีน-ญี่ปุ่นสมัยก่อน (ทางฝั่งตะวันออกของพม่าซึ่งติดกับจีน) ซึ่งได้ค้นพบข้อเท็จจริงที่หากไม่ไปด้วยตนเองก็จะไม่รู้

                   พื้นที่ทางตะวันออกของพม่านั้นมีชนกลุ่มน้อยชื่อเผ่าฉานอาศัยอยู่ เท่าที่ทราบมาคือเคยมีการเผชิญหน้าระหว่างเผ่าฉานกับกองกำลังทหารของรัฐบาลอยู่ระยะหนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันกำลับสู่สภาวะปกติแล้วแต่ก็ได้เห็นทหารประจำการอยู่เป็นจุดๆ แสดงว่าความขัดแย้งยังไม่หมดไปเลยทีเดียว

ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในแถบนี้คือชา เพราะมีลักษณะภูมิประเทศแบบที่ราบสูงบนเขา ความต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกลางคืนทำให้ใบชามีกลิ่นหอม แต่เมื่อขับรถเข้าไปลึกๆจึงพบว่ามีแต่ไร่ข้าวโพดเต็มไปหมด ซึ่งเพิ่งจะมีไร่ข้าวโพดเยอะขนาดนี้ไม่ถึง 3 ปี หลังจากสอบถามพบว่าข้าวโพดที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกส่งออกไปจีน 100เปอร์เซ็นต์ จริงอยู่ที่ว่าจีนร่ำรวยขึ้นและกินเนื้อมากขึ้น จึงต้องการผลผลิตที่จะทำเป็นอาหารสัตว์แบบข้าวโพดมากขึ้น แต่ไม่น่าจะเพิ่งเติบโตอย่างรวดเร็วตอนนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะตอนนี้เกษตรกรจีนผลิตข้าวโพดลดลงเนื่องจากรัฐบาลจีนกระตุ้น GDP โดยใช้เงินลงทุนพลิกชนบทซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรให้กลายเป็นตัวเมือง ค่าตอบแทนจากการทำเกษตรก็ไม่น่าจูงใจเท่ากับในเมือง เพียงแต่เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี จีนจึงปกปิดข้อมูลไว้ไม่ให้ใครรู้ว่าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำจนต้องนำเข้าสินค้าเกษตรพื้นๆอย่างข้าวโพดจากพม่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ปรากฎในคลังขององค์กรระหว่างประเทศอย่าง FAO เป็นต้น สรุปคือ ประเทศที่มีประชากรกว่า 1300ล้านคนนี้กำลังใช้พม่าเป็นแหล่งทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเงียบๆนั่นเอง